การผลิต ของ สวีนนีย์ ท็อดด์ บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท

การพัฒนา

ละครเพลงเรื่อง สวีนนีย์ ทอดด์, เดอะเดมอนบาร์เบอร์ออฟฟลีตสตรีต ของสตีเฟน ซอนไฮม์ ต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในภาพ แองเจลา แลนส์บูรี (ซ้าย) รับบทเป็นนางเลิฟเวตต์ และลอง การีอู (ขวา) รับบทเป็นสวีนนีย์ ทอดด์

ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตโดยพาร์กส์/แมคโดนัลด์โปรดักชันร่วมกับแซนัคก์คอมพานี และจัดจำหน่ายโดยดรีมเวิร์กส์พิคเจอร์และวอร์เนอร์บราเธอรส์พิคเจอร์[3] ใช้งบประมาณในการสร้างทั้งสิ้น 50,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเนื้อเรื่องทั้งหมดได้รับการดัดแปลงมาจากละครเพลงเรื่อง สวีนนีย์ ทอดด์, เดอะเดมอนบาร์เบอร์ออฟฟลีตสตรีต (Sweeney Todd, the Demon Barber of Fleet Street) ของสตีเฟน ซอนไฮม์

ในเบื้องต้น ผู้ที่ถูกวางตัวให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ แซม เมนเดส ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษเจ้าของรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์เรื่อง อเมริกันบิวตี้ (American Beauty, พ.ศ. 2542) ซึ่งเมนเดสได้ใช้เวลาหลายปีในการสร้างและดัดแปลงเนื้อเรื่องของละครเพลงข้างต้น[4] โดยได้เชิญซอนไฮม์มาประพันธ์บทภาพยนตร์ให้ด้วย[5] แต่ซอนไฮม์ปฏิเสธที่จะรับงานนี้ พร้อมกับแนะนำจอห์น โลแกน ให้มาทำหน้าที่นี้แทน ซึ่งเมนเดสและวัลเตอร์ พาร์กส์ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเคยร่วมงานกับโลแกนมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง แกลดดิเอเตอร์ นักรบผู้กล้า ผ่าแผ่นดินทรราช (Gladiator, พ.ศ. 2543) ต่างก็เห็นด้วย[6]

แต่ในที่สุด เมนเดสก็มีอันต้องยุติการเป็นผู้กำกับให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อไปกำกับภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่อง จาร์เฮด พลระห่ำ สงครามนรก (Jarhead, พ.ศ. 2548) ทำให้ทางดรีมเวิร์กต้องประกาศแต่งตั้งทิม เบอร์ตัน ให้เข้ามารับหน้าที่นี้แทนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่โครงการภาพยนตร์เรื่อง ริปลีย์สบีลีฟอิตออร์นอต! (Ripley's Believe It or Not) ของเบอร์ตันไม่ได้รับการอนุมัติให้สร้าง เนื่องจากงบประมาณที่ตั้งไว้สูงเกินไป[4][7]

สำหรับเบอร์ตัน เขามีความหลงใหลใน สวีนนีย์ ทอดด์ อยู่แล้ว โดยเริ่มต้นมาจากการได้ไปชมละครเพลงเรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2523 ช่วงที่เขายังศึกษาอยู่ที่สถาบันศิลปะแคลิฟอร์เนีย[8] ซึ่งแม้ว่าเบอร์ตันจะไม่ใช่ผู้ที่ชอบละครเพลงเป็นชีวิตจิตใจ[4] แต่เขาก็ติดใจความเป็นภาพยนตร์ที่ปรากฏอยู่ในละครเพลงเรื่องนี้ จนทำให้เขาต้องมาชมซ้ำหลายรอบ[9] เขาได้อธิบายถึง สวีนนีย์ ทอดด์ ไว้ว่า นี่คือภาพยนตร์เงียบที่มาพร้อมกับเสียงเพลง[9] และ "ถูกทำให้พิศวงด้วยเพลงและความรู้สึกรับรู้ของความน่าขยะแขยง"[8] ต่อมา เมื่อเขาได้เริ่มงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 1980 เขาก็เคยไปหาซอนไฮม์เพื่อจะนำ สวีนนีย์ ทอดด์ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่แล้ว ความคิดนี้ก็ถูกยกเลิกไป ซึ่งซอนไฮม์ได้ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะ "(เบอร์ตัน) ได้ถอนตัวไปจากแผนการนี้ และไปสร้างผลงานอื่น ๆ แทน"[9]

ในการสร้างบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เบอร์ตันกับโลแกนได้ร่วมกันประพันธ์บทขึ้นมาใหม่[6] โดยได้เปลี่ยนแปลงบางส่วนจากบทละครเพลงต้นฉบับ เช่น (1) ตัดทอนเพลงบางเพลงให้สั้นลง หรือยกเลิกเพลงที่ไม่จำเป็นต้องใช้[10] (2) ยกเลิกบทของคริสโตเฟอร์ ลี, ปีเตอร์ โบวล์ส, แอนโทนี สจวต เฮด และนักแสดงอีก 5 คนที่ถูกวางตำแหน่งให้มาแสดงเป็นผู้เล่าเรื่อง เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลาในการถ่ายทำ ที่มีการพักกองถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้จอห์นนี เดปป์ ผู้แสดงเป็นสวีนนีย์ ทอดด์ เดินทางกลับไปดูแลบุตรสาวที่กำลังพักพื้นจากอาการป่วยในขณะนั้น[11] และ (3) ลดบทบาท/ความสัมพันธ์ของตัวละครบางตัวลง เช่น ความรักระหว่างโจฮันนา บาร์กเกอร์ กับแอนโทนี โฮป แล้วมาเน้นหนักในบทบาทแบบสามเส้าระหว่างสวีนนีย์ นางเลิฟเวตต์ และโทบีแทน[10][12] เป็นต้น

การถ่ายทำ

ภาพการถ่ายทำภาพยนตร์

การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 และสิ้นสุดในวันที่ 11 พฤษภาคมของปีเดียวกัน โดยระหว่างการถ่ายทำได้มีการพักกองถ่ายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงเดือนมีนาคมเพื่อเปิดโอกาสให้จอห์นนี เดปป์ กลับไปเยี่ยมบุตรสาวของเขาที่กำลังป่วยหนักอยู่ในขณะนั้น[13][14] สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำ ทิม เบอร์ตัน ได้ใช้โรงถ่ายภาพยนตร์ไพน์วูดสตูดิโอส์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งเขาเคยใช้ถ่ายทำภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องนับตั้งแต่ แบทแมน (Batman) เมื่อปี พ.ศ. 2532[8]

ฉากหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือกรุงลอนดอนในสมัยวิกตอเรีย ที่ออกแบบโดยดันเต แฟร์เรตตี โปรดักชันดีไซเนอร์ เขาได้เติมความดำมืดและน่าสะพรึงกลัวให้กับกรุงลอนดอนในภาพยนตร์ และดัดแปลงถนนฟลีต ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านตัดผมของสวีนนีย์ ทอดด์ รวมถึงภูมิทัศน์แวดล้อมให้ต่างไปจากสถานที่จริง โดยในตอนแรก เบอร์ตันตั้งใจจะสร้างฉากทั้งหมดนี้ในคอมพิวเตอร์แล้วค่อยนำไปซ้อนกับภาพการแสดงของนักแสดงโดยใช้เทคนิคการถ่ายทำหน้ากรีนสกรีน แต่ต่อมา เขาก็เปลี่ยนใจ และหันมาใช้ฉากที่สร้างขึ้นจริงเพื่อจะช่วยให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทมากขึ้น[9]

สำหรับเลือด ซึ่งปรากฏตัวอย่างเด่นชัดในหลาย ๆ ฉากของภาพยนตร์ เช่น ฉากเปิด และฉากการฆาตกรรม นั้น เบอร์ตันกล่าวว่ามันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เขายืนยันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเต็มไปด้วยเลือด เพราะมันจะนำมาซึ่งพลังของเนื้อเรื่อง และเป็นสัญลักษณ์แทนการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงของสวีนนีย์ผ่านการฆาตกรรมที่โหดร้าย[4] เลือดในหนังเรื่องนี้ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นที่สุดในฉากที่สวีนนีย์ปาดคอเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งในการสร้างภาพเลือดที่กระฉูดมาจากคอของเหยื่อนั้น ทางผู้สร้างได้ใช้เลือดปลอมแทนการสร้างเลือดจากคอมพิวเตอร์ และมีการทดสอบอยู่หลายครั้งก่อนถ่ายทำจริง[9]

จากองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งฉากที่มืดมน และการนำเสนอภาพความรุนแรงอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ ทำให้โทนของภาพยนตร์เรื่องนี้ “น่าขยะแขยง” จนส่งผลให้ทางสตูดิโอเริ่มกังวลใจก่อนการสร้างในช่วงแรก แต่หลังจากที่ทั้งวอร์เนอร์บราเธอร์ส ดรีมเวิร์กส์ และพาราเมาต์ เซ็นสัญญาให้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความกังวลต่าง ๆ ก็หมดไป และกระบวนการสร้างก็ดำเนินไปตามโทนหนังที่กำหนดไว้ โดยเบอร์ต้นได้กล่าวถึงการตัดสินใจของสตูดิโอที่อนุมัติให้เขาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "ทางสตูดิโอยอมรับโทนหนังแบบนี้ เพราะเขารู้ว่าหนังเรื่องนี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้เอง"[15]

ดนตรีประกอบและเพลง

สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ผู้ประพันธ์เพลง/ดนตรีประกอบของ สวีนนีย์ ทอดด์ ฉบับละครเพลง (ภาพนี้ถ่ายในงานฉายรอบปฐมทัศน์ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา)

ดนตรีประกอบ รวมไปถึงเพลงต่าง ๆ ที่ตัวละครใช้ร้องแทนบทพูด ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังคงยึดโยงอยู่กับลักษณะดนตรี/เพลงที่ใช้ในการแสดงละครเพลง สวีนนีย์ ทอดด์ ของซอนไฮม์แทบทั้งหมด โดยมีบางส่วนที่ได้รับการดัดแปลง เพิ่มเติม และตัดทอนลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น นั่นจึงทำให้ท่อนร้องบางท่อนและเพลงที่มีชื่อเสียงบางเพลงของละครเพลง สวีนนีย์ ทอดด์ ไม่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเพลง "The Ballad of Sweeney Todd" ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพลงเล่าเรื่องทั้งในส่วนนำ ระหว่างเรื่อง และส่งท้ายในฉบับละครเพลง ก็ถูกเบอร์ตันตัดทิ้งไป โดยที่เขาได้กล่าวถึงเพลงนี้ว่า "ทำไมบรรดาคอรัสต้องออกมาร้องว่า 'มาตั้งใจฟัง/ดูตำนานของสวีนนีย์ ทอดด์' (Attend the tale of Sweeney Todd[16]) อีก ทั้ง ๆ ที่คุณก็กำลังจะได้ฟังและดูมันอยู่แล้ว"[8]

ส่วนการบรรเลงดนตรีประกอบภาพยนตร์นั้น โจนาทาน ทูนิคก์ ผู้ประพันธ์ดนตรีให้กับ สวีนนีย์ ทอดด์ ฉบับละครเพลงดั้งเดิม ได้มาเป็นผู้ควบคุมในด้านนี้ โดยเขาได้นำเอาเพลงดั้งเดิมมาบรรเลงใหม่ทั้งหมดโดยวงออร์เคสตรา ที่เพิ่มจำนวนนักดนตรีจากเดิมเมื่อครั้งที่ใช้แสดงในละครเพลง 27 คนเป็น 78 คน เพื่อทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ทั้งใหญ่และมากขึ้นกว่าเดิม[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สวีนนีย์ ท็อดด์ บาร์เบอร์หฤโหดแห่งฟลีทสตรีท http://allmovie.com/cg/avg.dll?p=avg&sql=1:352629 http://www.allmovie.com/cg/avg.dll?p=avg&sql=1:352... http://www.bizjournals.com/milwaukee/stories/2008/... http://www.boxofficemojo.com/intl/thailand/?yr=200... http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=sweeneytod... http://www.emanuellevy.com/search/details.cfm?id=8... http://www.ew.com/ew/article/0,,20155516_20155530_... http://www.ew.com/ew/article/0,,20155983,00.html http://www.ew.com/ew/article/0,,461190,00.html http://movies.ign.com/articles/712/712364p1.html